21 กุมภาพันธ์ 2561

มิติที่ 6 | 9 กลุ่มอาการทางจิตสุดแปลก ที่ใช้ชื่อสถานที่มาเป็นชื่อเรียก !!!



"Syndrome" มันคือกลุ่มอาการ และอาการแสดงออกในหลายลักษณะ ที่สามารถพบได้พร้อมกันหลายคน และสามารถอธิบายกลไกที่เป็นสาเหตุได้


รับชมบนยูทูป


มิติที่ 6 สัปดาห์นี้ เราจะพาท่านผู้ชมไปรู้จักกับกลุ่มอาการแปลก ๆ ที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนหลายท้องที่ อาการแปลก ๆ ที่แสดงให้เห็นออกมาทางกาย ที่ถูกตั้งชื่อไว้โดยมีชื่อเมืองต่าง ๆ เป็นสถานที่อ้างอิง ว่าทั้งหมดนั้น... มันคืออะไรกันแน่ !?


India Syndrome
ภาพจาก: Dialogueireland

"อินเดีย" หรือชื่อทางการว่า "สาธารณรัฐอินเดีย" ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียใต้ มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก ที่นี่นอกจากจะมีประชากรเยอะเป็นพันล้านแล้ว ยังมีวัฒนธรรมอันเก่าแก่มากมาย รวมไปถึงเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิและศาสนาสำคัญ


นั่นจึงทำให้ทุก ๆ ปี ชาวตะวันตกจำนวนนับพัน จะแห่แหนกันมาแสวงบุญยังประเทศอินเดีย หลายคนมีความตั้งใจอันแรงกล้า ที่จะไปค้นหาความจริงของการมีชีวิต และก็มีบางคนที่ไปแล้วก็ไปเลย ไม่ได้หวลกลับมายังบ้านเกิดตลอดชีวิต พวกเขากลายเป็นคนเหนือคน อยู่กับขนบวัฒนธรรมแปลกใหม่ เกิดความแปลกแยกทางอารมณ์ บ้างก็ติดยาเสพติดผิดกฏหมาย ไม่ก็เข้าถึงทางอารมณ์กับการเข้าฌานอันลึกล้ำเหนือกว่าใคร ซึ่งอาการแบบนี้ทางแพทย์เรียกว่าเป็น "อาการทางจิต" โดยระบุชื่อโรคของมันไว้ตามประเทศแห่งนี้ว่า อินเดียซินโดรม
ในปี ค.ศ. 2008 มีนักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศสชื่อ เรจีส เอโรลท์ ได้เขียนหนังสืออธิบายปรากฏการณ์แปลกประหลาดนี้ในชื่อ ฟูส์เดอลันด์ ที่น่าจะแปลว่า คนคลั่งอินเดีย มีใจความพูดถึงประสบการณ์ของเขาในช่วงการทำงานเป็นจิตแพทย์อยู่ในประเทศนี้ โดยบอกว่าตอนนั้นเขาได้ทำงานร่วมกับคนไข้ชาวตะวันตกที่เดินทางมาค้นหาชีวิต แล้วต้องพบกับความผันแปรอันน่าเศร้า

"เรจีส เอโรลท์" และหนังสือ "ฟูส์เดอลันด์" ของเขา

โดยเขาอธิบายว่าประเทศนี้ มีวัฒนธรรมที่แปลกและแตกต่าง มันดูราวกับเป็นโลกแห่งจินตนาการ และคนที่ป่วยเป็นโรคอินเดียซินโดรม จะเข้าถึงเหล่าผู้คนที่เดินทางมาจากประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งนั่นก็ไม่พ้นพวกชาวตะวันตกนี่แหละ ผู้คนเหล่านี้ล้วนเดินทางมาที่อินเดียเพื่อแสวงหาวัฒนธรรมอันบริสุทธิ์และแปลกใหม่ ที่ในอินเดียยังคงรักษาเอาไว้อย่างดี ราวกับถูกพาย้อนเวลากลับไปยังอดีตนั่นเอง
นายแพทย์เรจีสยังกล่าวอีกว่า เหล่าผู้คนดี ๆ ที่ไม่เคยมีประวัติป่วยทางจิตมาก่อน ก็ล้วนยืนยันว่าพวกเขาได้เริ่มเข้าถึงสมาธิชั้นสูงกันแล้ว หรือไม่ก็บอกว่าตอนนี้มันใกล้ถึงวันพิพากษาเข้าไปเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ที่รักษาหายก็จะรีบเดินทางกลับบ้านทันทีที่มีโอกาส แต่มันก็มีบางคนที่เข้าสู่ภวังค์จนเสียสติกันไปแบบถาวร ซึ่งคนกลุ่มนี้จะหายตัวไม่ก็เสียชีวิตไปเลยก็มี

ที่มา: Culteducation และ CNN

-----------
Stockholm Syndrome
ภาพจาก: Reuters


สต็อกโฮล์มซินโดรม มันเป็นอาการทางจิตที่พวกเราน่าจะเคยได้ยินกันมาก่อน โดยเฉพาะท่านผู้ชมที่เคยชมคลิป เดอะเกิร์ลอินเดอะบ็อกซ์ ของเรา ที่พูดถึงคดีหญิงสาวถูกจับตัวไปกักขังทรมาน แล้วสุดท้ายกลับไปหลงรักคนร้ายจิตวิปริตไปเสียอย่างนั้น

โดยอาการทางจิตชนิดนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่ได้รับความหวาดกลัวอย่างรุนแรง ในการถูกทารุณกรรมจนไม่สามารถควบคุมจิตใจตัวเอง และพัฒนากลายเป็นความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ จนสุดท้ายก็ไปได้เสียกับคนที่จับตัวพวกเขามา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อาการเห็นอกเห็นใจคนร้าย ซึ่งผู้ที่ป่วยมีอาการสต็อกโฮล์มซินโดรมจะตอบสนองต่อคนร้ายด้วยความจงรักภักดี จนบางครั้งเหยื่ออาจเผลอใจถึงขั้นไปโซเดมาคอมโป๊ะฉึกฉึกกับคนร้ายเหมือนในหนังลามกใต้ดิน
โดยต้นเหตุที่ทำให้อาการทางจิตชนิดนี้ถูกเรียกว่าสต็อกโฮล์มซินโดรมก็เพราะว่า ในปี ค.ศ. 1973 มีอยู่คดีหนึ่ง ตอนนั้นมีคน 4 คน ถูกโจรปล้นธนาคารจับไปเป็นตัวประกันอยู่ในธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงสต็อกโฮล์ม ซึ่งคนร้ายก็คือชายวัย 32 ปี ชื่อ ยาน เอริค โอลสัน จนช่วงเวลาการก่อเหตุผ่านไปจนสิ้นวันที่ 6 เหยื่อที่ถูกจับไว้ทุกคน ต่างก็มีความสัมพันธ์อันดีกับคนร้ายขึ้นมาเฉย ๆ พอเรื่องไปถึงชั้นศาล เหยื่อทุกคนก็ไม่ยอมให้การปรักปรำยาน เอริคเสียอีก แถมยิ่งกว่านั้นพวกเขาต่างก็พากันรวบรวมเงินทอง ช่วยคนร้ายในการว่าจ้างทนายต่อสู้ในชั้นศาลเสียด้วย

"ยาน เอริค โอลสัน" ปล้นธนาคาร ปี ค.ศ. 1973

แต่ถึงจะช่วยเหลือคนร้ายกันขนาดไหน สุดท้ายศาลก็ได้พิพากษาโทษจำคุกแก่ยาน เอริค 10 ปี ซึ่งเขาก็พ้นโทษมาแล้วตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1980 และถ้าข้อมูลของเราไม่พลาด ยาน เอริค โอลสัน ได้เดินทางมาอยู่ในประเทศไทย มีภรรยาและลูกชายเปิดกิจการทำร้านซุเปอร์มาร์เก็ตอยู่ที่นี่ถึง 15 ปี ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ที่บ้านเกิด ในเมืองเฮลซิงบอร์กประเทศสวีเด็น ทิ้งอดีตที่เคยเป็นโจรปล้นธนาคารไปเป็นคนธรรมดาเรียบร้อยแล้ว

ปัจจุบัน "ยาน เอริค โอลสัน" อายุ 77 ปี
ที่มา: Allthetropes และ BBC

-----------
London Syndrome

ลอนดอนซินโดรม หรือ อาการต่อต้านคนร้าย มันคืออาการทางจิตประเภทที่อยู่ตรงข้ามกับสต็อกโฮล์มซินโดรม โดยผู้ที่มีอาการนี้จะตอบสนองกับคนร้ายที่จับตัวเขาด้วยความเลวร้าย โดยไม่มีอะไรที่เรียกว่าความร่วมมือ หรือแม้แต่การพูดคุยกับคนร้ายเลยแม้แต่นิดเดียว

"แอบบาส ลาวาซานี่" ขัดขืนตัวประกันจนเสียชีวิตในที่สุด
(ภาพจาก: BBC)

โดยในช่วงปี ค.ศ. 1980 เหตุเกิดขึ้นที่สถานฑูตอิหร่านในกรุงลอนดอน มีผู้ก่อการร้ายจำนวน 6 คน บุกเข้าไปจับเจ้าหน้าที่ของสถานฑูต 26 คนเป็นตัวประกัน ในหนึ่งในตัวประกันนั้นชื่อ แอบบาส ลาวาซานี่ เขาแสดงที่ท่าไม่ให้ความร่วมมือกับคนร้ายอย่างสิ้นเชิง ซ้ำยังพูดจาหาเรื่องทะเลาะอย่างต่อเนื่อง ท้าทายให้คนร้ายลงมือกับเขาอย่างจงใจ จนในที่สุดพวกคนร้ายก็ลงมือสังหารเขาจริง ๆ ซึ่งการกระทำของเขาในครั้งนั้น สร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ถูกจับเป็นตัวประกันคนอื่นอย่างมาก เพราะในเหตุการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานแบบนั้น มันไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะไปแสดงอาการยั่วโมโหคนร้ายตลอดเวลา และนั่นก็เลยเป็นที่มาของอาการทางจิต ที่เรียกว่า ลอนดอนซินโดรม นั่นเอง !

ที่มา: Medical Dictionary และ Wikipedia


-----------
Uppgivenhetssyndrom
ภาพจาก: Magnus Wennman for The New Yorker


มันอ่านว่า อุพกิฟเวนเฮ็ทซินโดรม โดยชื่อของอาการทางจิตชนิดนี้ ไม่ได้ถูกตั้งชื่อโดยใช้สถานที่เกิดเหตุเป็นตัวเรียก มันเกิดขึ้นเพียงเฉพาะพื้นที่เดียวบนโลกใบนี้ โดยมีเด็กและวัยรุ่นจำนวนนับร้อย ที่จะมีอาการแบบนี้ยาวนานตั้งแต่เป็นเดือน ไปจนถึงเป็นปีเลยทีเดียว
อาการที่ว่านี้คือ เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำแล้วไม่ยอมตื่นในวันรุ่งขึ้น พวกเขาไม่ยอมขยับตัว ไม่ดื่มน้ำและรับประทานอาหาร ไม่พูดไม่จา และไม่มีปฎิกิริยาตอบสนองใด ๆ โดยผู้ที่เกิดอาการนี้จะมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นก็คือทุกคนกำลังมองหาสถานที่ลี้ภัยแห่งใหม่ เกือบทั้งหมดคืออดีตชาวโซเวียตและยูโกสลาเวีย และทุกคนล้วนอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน
โดยทุกคนที่ตกอยู่ในอาการแบบนี้ ก็เพราะหลังจากที่ครอบครัวของพวกเขาถูกคำสั่งเนรเทศให้ออกนอกพื้นที่ การรักษาเพียงอย่างเดียวที่ทำได้ก็คือ การยอมให้พวกเขาอยู่ที่เดิมต่อไปอย่างปลอดภัย ซึ่งนั่นก็หมายถึง การอนุญาตให้พวกเขาอาศัยอยู่ในสวีเดนเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งที่สนับสนุนสิ่งที่เราพูดไปนั้นก็คือหลังจากที่เหล่าผู้ปกครองของเด็ก ๆ ได้รับอนุญาตจากทางการให้สามารถอยู่ต่อได้ ก็ได้ทำให้ในเวลาต่อมาเด็กทุกคนเริ่มค่อย ๆ ได้สติ ฟื้นขึ้นมาพร้อม ๆ กันนั่นเอง


ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า อยู่ดี ๆ ทำไมเด็ก ๆ ถึงพร้อมใจกันหลับยาวแบบนั้นได้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วจริง ๆ และทีนี้เรามาดูกลุ่มอาการทางจิต ที่ตั้งชื่อโดยใช้ชื่อเมืองอันแสนโรแมนติกกันบ้าง

ที่มา: Medical Dictionary


-----------
Paris Syndrome
ภาพจาก: AP

ปารีสซินโดรม มันคืออาการทางจิตที่เกิดขึ้นแบบจงใจ โดยเฉพาะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ที่ได้เข้ามายังเมืองแห่งแสงสี ที่ชื่อว่าปารีสของประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง
นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นกว่าหกล้านคน ได้เข้ามาแวะเยี่ยมชมกรุงปารีส เพื่อดื่มด่ำกับภาพความโรแมนติก แฟชั่นนำสมัย ที่เต็มไปด้วยความเย้ายวลใจ ซึ่งมันก็มีชาวญี่ปุ่นบางคนเกิดอาการตกอยู่ในสถานะที่เรียกว่า ประสาทหลอนอย่างเฉียบพลัน

โดยแสดงออกมาทางกายดูเหมือนความวิตกกังวล หน้ามืดวิงเวียน และมีอาการเหงื่อออกจนเห็นได้ชัด ยามที่พวกเขารู้ว่าจริง ๆ แล้ว พวกเขาไม่ได้กำลังอยู่ในดินแดนอะไรแบบที่คิดเอาไว้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาการช็อกทางด้านวัฒนธรรมที่ไม่ตรงกับที่คิด โดยวิธีการรักษานั้นก็มีเพียงวิธีเดียว นั่นก็คือรีบออกจากกรุงปารีสแล้วอย่ากลับไปที่นั่นอีก !

ที่มา: SBS


-----------
Florence Syndrome
ภาพจาก:  Mentalfloss


ถ้าหากคุณมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ยืนชมผลงานศิลปะแล้วอ่อนเปลี้ย เพลียแรง วิงเวียนศีรษะ เหงื่อออก จนถึงอาการวูบ นั่นก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราอยากจะบอกว่า ตอนนี้คุณน่าจะได้เป็นผู้ป่วยมีอาการทางจิตที่เรียกว่า สเตย์ดัลซินโดรม หรือที่บางแห่งอาจจะเรียกชื่อล้อตามสถานที่ว่า ฟลอเรนซ์ซินโดรม !


ซึ่งถ้าอยากจะถามว่าเกิดขึ้นเพราะอะไรล่ะก็ คำตอบมันก็คือจากงานศิลปะที่คุณกำลังชื่นชมอยู่นั่นแหละ และถ้าคุณคิดว่ามันน่าจะมีสาเหตุมาจากฝุ่นสีที่เคลือบอยู่บนผืนผ้าใบ ก็ต้องขอบอกเลยว่าคุณคิดผิด เพราะสาเหตุจริง ๆ มาจากอาการเสพงานศิลปะเกินขนาด โดยมักจะเกิดกับเหยื่อที่มีนิสัยอ่อนไหวง่าย ส่วนมากจะยังไม่มีคู่ครอง อายุอยู่ระหว่าง 26-40 ปี ที่เพิ่งผ่านความเครียดจากการเดินทาง หรืออาจจะเครียดจากการปรับนาฬิกาชีวิตในต่างแดนก็ได้


อาการก็สามารถกำเริบได้ทุกแห่ง เพราะคุณเพิ่งจะได้ดื่มด่ำงานศิลปะจนล้น โดยชื่อฟลอเรนซ์ซินโดรมนี้มาจากเมืองฟลอเรนซ์ ที่มีผลงานศิลปะในยุคเรเนซองค์มากที่สุด เพราะสำหรับคนรักศิลปะเขาบอกว่ายุคนี้มันช่างมีมนต์เสน่ห์และขุมพลังอัดแน่นอยู่เต็มเปี่ยม แถมยังเต็มไปด้วยรายละเอียดอันดำมืด ที่สามารถกระตุ้นต่อมความประทับใจอันตราตรึง ที่ซ่อนอยู่ในเหล่าผู้รักงานศิลปะที่มีจิตใจอ่อนไหว ให้ลุกโชนขึ้นมาจนแทบจะเป็นลมได้นั่นเอง

ที่มา: Mentalfloss


-----------
Jerusalem Syndrome
ภาพประกอบเท่านั้น
(ภาพจาก: Ferrell Jenkins)


สำหรับเรื่องนี้เราก็ต้องขออธิบายนิยามของคำว่าคลั่งศาสนากันก่อนว่า มันเป็นคนละอย่างกับการเคร่งครัดศาสนา มันเป็นอาการของคนที่ลุ่มหลง จนในหัวไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่เขาเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้เราเลยต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า เราไม่ได้คิดจะโจมตีความเชื่อของศาสนาใด แต่เรากำลังจะพูดถึงอาการทางจิต ที่เกิดจากการได้เดินทางไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ของผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์บางคน ที่ไปพบกับอะไรบางอย่างที่รับไม่ได้


ซึ่งถ้าคุณคิดว่าการเดินทางไปยังสถานที่เหล่านี้ มันอาจจะทำให้บางคนเปลี่ยนไป จากที่เคยปฏิบัติตามหลักคำสอนของศาสนาตัวเองอยู่ดี ๆ กลายเป็นคนคลั่งศาสนาจนพูดจาไม่รู้เรื่องได้ล่ะก็ เราขอบอกเลยว่า มีรายงานพูดถึงนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เกิดป่วยเป็นโรคทางจิตชนิดประสาทหลอน คิดว่าตัวเองคือหนึ่งในบุคคล ของประวัติจารึกในคัมภีร์หรือเรื่องเล่าในยุคโบราณกันเลยทีเดียว โดยในต่างประเทศนั้นมีผู้ป่วยบางรายถึงกับเพ้อเรื่องราวเกี่ยวกับวันสิ้นโลก เพียงเพราะตัวเองได้ไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ หรือเมืองเยรูซาเล็มนั่นเอง


สำหรับผู้นับถือศาสนาคริสต์เรียกอาการนี้ว่า เยรูซาเล็มซินโดรม โดยผู้ป่วยจะมีอาการ วิตกกังวล ต้องการปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง พยายามทำให้ตัวเองสะอาดบริสุทธิ์มากที่สุด หาเสื้อผ้าสีขาวมานุ่งห่ม ตะโกนร่ำร้องและเดินไปยังทิศที่ตั้งของดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และสุดท้ายการประกาศพระวจนะของพระเจ้าก็จะเริ่มต้นขึ้น
โดยสาเหตุของอาการเยรูซาเล็มซินโดรมนี้ จะมีลักษณะใกล้เคียงกับปารีสซินโดรมเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการได้ไปถึงสถานที่ ๆ ตั้งใจเอาไว้ แล้วกลับไม่ได้รับสิ่งที่คาดหวังตามที่ควรจะเป็น จนเกิดอาการช็อกทางวัฒนธรรมในก้นบึ้งจิตใจ แล้วก็แสดงออกมาเป็นอาการแปลก ๆ อย่างที่เราได้เล่าไปแล้วนั่นเอง


ซึ่งวิธีการบำบัดรักษานั้นก็เหมือนกับปารีสซินโดรม ก็คือการนำตัวผู้ป่วยออกไปจากสถานที่ตรงนั้น  และจงอย่าได้พาเขากลับไปที่นั่นอีก ไม่งั้นเดี๋ยวอาการกำเริบขึ้นมา อาจจะไม่ได้พาผู้ป่วยกลับบ้านตลอดกาลก็เป็นได้

ที่มา: All That is Interesting และ All That is Interesting(2)

-----------
The Jumping Frenchmen of Maine
Unknown Source 

The Jumping Frenchmen of Maine ชื่อของมันมาจากในยุคปี ค.ศ. 1870 จากเหตุคนตัดไม้เชื้อสายฝรั่งเศสและแคนาดา ในเขตป่านอร์ธเทิรนเมนของประเทศสหรัฐอเมริกา เกิดแสดงท่าทางตกใจด้วยการกระโดดตัวลอย นอกจากนั้นถ้าหากคนที่แกล้งเขาให้ตกใจ พูดสั่งให้เขาทำอะไรตอนในนี้ เขาก็จะปฎิบัติตามทุกอย่างทันที ในลักษณะตื่นเต้นเกินจริง ร่วมกับการกระโดดดึ๋ง ๆ บ้างก็ตะโกนสะบดคำหยาบ ไอ้นั่นหก ไอ้นี่ตก เอามือตีตอบโต้ ตลอดจนพูดประโยคเลียนแบบคนที่เข้าไปแกล้ง ตามด้วยคำศัพท์ที่บ่งบอกว่ามันคืออวัยวะสำคัญในการถ่ายเบา หรือในบางคนจะพูดจาภาษาอะไรก็ไม่รู้ ร่วมกับทำท่าทางปัดป้องผิดไปจากบุคลิกภาพตามปกติ ที่ในบ้านเราเรียกว่า บ้าจี้ นั่นเอง
มีบางคนเชื่อว่ามันคืออาการทางจิตที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ โดยผู้ป่วยที่มีอาการเหล่านี้ มักจะเป็นบุคคลใกล้ชิดของเราทั้งนั้น ว่ากันว่าในครอบครัวที่มีสมาชิกอย่างน้อย 4 คน จะต้องมีหนึ่งคนที่ป่วยด้วยโรคทางจิตชนิดนี้ แต่ก็นั่นแหละมันไม่ได้เป็นการสรุปอาการจากทางแพทย์ซะเมื่อไหร่ นั่นก็เลยทำให้เราไม่อาจจะเชื่อทฤษฎีตรงนี้กันได้ทั้งหมด
และที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น หลังจากที่อาการนี้หายไปจากรัฐเมน อาการแปลก ๆ นี้มันก็ย้ายไปเกิดกับประชากรในรัฐหลุยเซียน่ากันต่อ ซึ่งชาวบ้านที่นั่นเรียกอาการนี้ว่า ราฮุนคาฮุน และอาการแปลก ๆ นี้ มันก็ได้แพร่กระจายออกไปราวกับโรคระบาด มาจนถึงมาเลเซีย ไซบีเรีย อินเดีย โซมาเลีย เยเมน ฟิลิปปินส์ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย ที่เรามักจะพบเห็นกันได้ตามรายการทีวียุคหนึ่ง


ซึ่งอาการบ้าจี้แบบนี้ถ้าผู้ป่วยมีบุคคลิกภาพดูดี มันก็จะดูน่ารักน่าแกล้ง แต่ถ้าไม่ใช่แบบนั้น พวกเขาก็มักจะทำให้เรารู้สึกหลอนเหมือนเห็นคนถูกผีเข้า จนคิดอยากจะแกล้งให้สะใจได้อีกเหมือนกัน แต่ก็อย่างที่เราบอกไป นี่คืออาการป่วยทางจิตที่ชื่อว่า จัมปิ้งเฟรนช์เมนออฟเมน นั่นจึงทำให้มันไม่ใช่เรื่องตลก และเราก็ควรทำให้เขาเหล่านั้นเกิดความมั่นใจในการใช้ชีวิตอยู่อย่างมีสติ ด้วยการไม่ไปแกล้งให้เขาตกใจโดยไม่จำเป็นจะดีกว่านะครับ และนั่นจึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รายการมิติที่ 6 ไม่นิยมในเทคนิคจัมป์แกร์ ร่วมกับการเล่าเรื่องสยองขวัญในวันศุกร์ เพราะใครจะไปรู้ว่าในเสี้ยววินาทีที่เกิดจัมปสแกร์ จะมีคนกี่คนที่ปาโทรศัพท์ราคาหลักหมื่นลงพื้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ที่มา: io9.gizmodo.com


-----------
Lima Syndrome
ภาพประกอบเท่านั้น
(ภาพจาก: tsn.ua)


ลิม่าซินโดรม มันคืออาการทางจิตอีกชนิด ที่มีพฤติกรรมตรงข้ามกับสต็อกโฮล์มซินโดรมอยู่นิดหน่อย นั่นก็คือแทนที่ตัวเหยื่อจะไปเห็นอกเห็นใจคนร้ายที่จับตัวมา ก็เปลี่ยนมาเป็นตัว คนร้ายเห็นอกเห็นใจเหยื่อ ที่ตัวเองจับมาเสียแบบนั้น

โดยนิยามชื่อของโรคนี้ ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในช่วงวิกฤตการณ์จับตัวประกันสถานฑูตญี่ปุ่นในกรุงลิม่าของประเทศเปรู ตอนนั้นตรงกับปี ค.ศ. 1996 มีสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ ได้บุกเข้าไปยังที่พำนักของท่านเอกอรรคราชฑูตญี่ปุ่น แล้วจับตัวประชาชนกว่า 100 รายเป็นตัวประกัน โดยสองวันต่อมาพวกเขาก็เริ่มปล่อยตัวประกันหญิงให้เป็นอิสระ รวมถึงบุคคลสำคัญที่พวกเขาน่าจะจับตัวเอาไว้ต่อรอง และก็มีตัวประกันบางส่วนถูกสังหารไปเช่นกัน

ภาพเหตุการณ์จริง

จนกระทั่งเวลาผ่านไป 126 วัน ตัวประกันที่เหลือก็ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระจนหมด วันนั้นตรงกับวันที่ 22 เมษายน ค.ศ. 1997 โดยหลังจากที่ตัวประกันคนสุดท้ายได้รับการช่วยเหลือ หน่วยคอมมานโดจำนวน 2 หน่วย ก็ได้บุกเข้าไปสังหารกลุ่มก่อเหตุทันที คนร้ายเสียชีวิตทั้งหมด โดยหลังจากฝันร้ายจบลงก็มีผู้ให้ทัศนคดีเกี่ยวกับการปล่อยตัวประกันครั้งนี้ว่า มันน่าจะมาจากกลุ่มคนร้ายเกิดใจอ่อน เห็นอกเห็นใจตัวประกันที่เป็นผู้หญิงขึ้นมา จึงได้ปล่อยพวกเธอให้เป็นอิสระในช่วงวันแรก ๆ และเรียกพฤติกรรมเห็นอกเห็นใจต่อตัวประกันครั้งนั้นว่า ลิม่าซินโดรม นั่นเอง


เพียงแต่ในรายละเอียดจริง ๆ ที่เราทราบนั้น มีตัวประกันบางคนรายงานกับผู้สื่อข่าวว่า พวกเขาเห็นพวกกลุ่มคนร้ายเกิดถอดใจกลางครัน โดยในช่วงที่หน่วยคอมมานโดบุกเข้าไปนั้น สมาชิกก่อการร้ายบางคนก็ทำท่ายอมแพ้อย่างราบคาบกันไปหมดแล้ว เพียงแต่กับคำถามว่าทำไมหน่วยคอมมานโด ถึงตัดสินใจสังหารคนร้ายทั้งหมดนั้น มันก็เป็นเรื่องทางปฎิบัติที่ต้องรีบจัดการให้ทุกอย่างจบลงโดยเร็ว ซึ่งในหลายประเทศก็ใช้มาตรการเด็ดขาดแบบนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไม่คาดฝันจากผู้ก่อการร้ายบางคน ที่อาจจะทำอะไรร้ายแรงขึ้นมาในช่วงเวลาเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายได้นั่นเอง

ที่มา: Wikipedia และ Onedio


โดยกลุ่มอาการผิดปกติเหล่านี้ มิติที่ 6 ไม่อยากให้ท่านผู้ชมมองเป็นเรื่องตลก บางอาการสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ และบางอาการก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนใกล้ชิด ซึ่งถ้าได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของมัน รวมไปถึงวิธีการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้อง มันก็จะทำให้เราสามารถมีชีวิตต่อไปได้อย่างที่ควรเป็น ไม่ต้องมาคอยระแวดระวังจนกลายเป็นโรคหวาดระแวงเพิ่มขึ้นมาอีก ดังนั้นทางที่ดีก็จงใช้ชีวิตกันอย่างมีสติ และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมีความสุขนะครับ

"เห่ เฮ เฮย์... เห่ เฮ เฮย์..."

หลังจากจบรายการมิติที่ 6 แล้ว อย่าลืมกดสับสไครป์ กดไลก์ กดแชร์ และอย่าลืมทิ้งคอมเมนต์กันไว้ด้วยนะครับ ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายรอคุณอยู่ สำหรับวันนี้... สวัสดี !

แปลและเรียบเรียงโดย นิวัฒน์ อ่ำแสง
ขอบคุณที่มา:
Oddee
Culteducation
CNN
Allthetropes
BBC
SBS
Medical Dictionary
Mentalfloss
Wikipedia/Iranian Embassy Siege
All That is Interesting
io9.gizmodo.com
All That is Interesting
Wikipedia/Japanese Embassy Hostage Crisis
Onedio

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประกาศ

เพื่อเป็นกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเรา ขอความร่วมมือจากผู้ที่นำเรื่องราวจากมิติที่ 6 ไปใช้ในที่ของท่าน กรุณาลงเครดิตกลับมาที่เราจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ