ทุกๆ ครั้งที่เราได้ฟังเพลงดีๆ สักเพลง มันจะทำให้เราสัมผัสได้ถึงอารมณ์และความรูสึกที่ผู้แต่งเพลงนั้นได้ส่งผ่านมาถึงเรา บางเพลงก็ทำให้เรารู้สึกมีความสุข บางเพลงก็ทำให้เราเศร้า ซึ่งในหลายๆ ครั้ง มันก็ทำให้เราถึงกับต้องหลั่งน้ำตาออกมา เพราะมันตรงกับชีวิตเราจริงๆ
ก่อนที่เราจะไปค้นหาที่มาของเรื่องราวนี้ มิติที่ 6 จะขอเล่าเรื่องราวที่ถูกเล่าขานกันมาให้ท่านผู้ชมได้รับทราบกันก่อน โดยมิติที่ 6 ขอสัญญาว่า เราจะไม่ใช้เทคนิคจัมป์สแกร์ หรือการแกล้งให้ท่านผู้ชมต้องตกใจในขณะที่กำลังรับชมอย่างแน่นอน
และด้วยความดีใจที่เขาสามารถแต่งเพลงดังขึ้นมาได้สำเร็จ เรสโซ่ เซเรส จึงได้พยายามติดต่อกับอดีตแฟนสาวของเขา ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการที่ทำให้เขาแต่งเพลงนี้ขึ้นมา โดยเขาพยายามขอให้เธอหวลกลับมาคืนดี แต่กลับกลายเป็นว่า ในวันต่อมาแฟนสาวของเขาก็ฆ่าตัวตายไปด้วยวิธีการกินยาพิษ ทิ้งแผ่นกระดาษโน้ตเพลงไว้แผ่นหนึ่ง ภายในนั้นเขียนคำเอาไว้เพียงสองคำว่า "กลูมี่ซันเดย์"
จนเวลาผ่านไปเพลงกลูมี่ซันเดย์เพลงนี้ ก็กลายมาเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดการฆ่าตัวตายอย่างมากมายในประเทศฮังการี โดยในจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด 17 รายนั้น มีสองคนยิงตัวตายในขณะที่กำลังฟังเพลงนี้ อีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงไปในแม่น้ำ และในมือของพวกเขาทุกคนล้วนกำแผ่นกระดาษโน้ตเพลงกลูมี่ซันเดย์เอาไว้ในมือทุกราย
ต่อมาทางการของประเทศฮังการีจึงได้ออกประกาศห้ามเล่นเพลงนี้ในที่สาธารณะ แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศนี้ก็ไม่สามารถที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายลงได้เลย
ในกรุงเบอร์ลินประเทศเยอรมนี มีหญิงสาวเจ้าของร้านคนหนึ่งได้ตัดสินใจแขวนคอตายไปอย่างลึกลับ และที่บริเวณเท้าของเธอนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจพบแผ่นโน้ตเพลงกลูมี่ซันเดย์วางอยู่ ส่วนในนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีเจ้าหน้าที่ตำแหน่งเลขาธิการหญิงคนหนึ่ง ฆ่าตัวตายไปด้วยการรมแก๊ส โดยสิ่งที่เธอได้เขียนสั่งเสียเอาไว้นั้นก็คือ ให้ช่วยเล่นเพลงกลูมี่ซันเดย์ในงานศพของเธอด้วย
ในกรุงบูดาเปสของประเทศฮังการีเอง ก็มีหญิงสาวเจ้าของร้านคนหนึ่งฆ่าตัวตาย แล้วทิ้งกระดาษโน้ตเขียนเนื้อเพลงนี้เอาไว้เช่นกัน
ความน่ากลัวของเพลงนี้ได้ถูกเล่าขานออกไปทั่วโลก และมันก็มีผลทำให้ค่ายเพลงของประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินใจที่จะซื้อความโด่งดังนี้ โดยพวกเขาได้ทำการแปลเนื้อเพลงกลูมี่ซันเดย์ ออกมาเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ โดยหลังจากการออกวางจำหน่ายได้ไม่นาน ก็มีผู้คนมากมายฆ่าตัวตายเพราะมันเพิ่มขึ้นไปอีก
โดยหนึ่งในนั้นเป็นชายหนุ่ม เขาได้เดินเข้าไปเที่ยวที่ไนท์คลัปแห่งหนึ่ง จากนั้นก็ขอให้วงดนตรีของที่นั่น ช่วยเล่นเพลงฆ่าตัวตายเพลงนี้ แล้วเขาก็หยิบปืนขึ้นมาจ่อที่ศรีษะ จากนั้นลั่นไกระเบิดสมองของตัวเอง หลังจากที่เพลงนี้เพิ่งเล่นไปได้เพียงพักเดียวเท่านั้น
ต่อมาก็มีชายอายุ 82 ปีคนหนึ่ง นำแผ่นเสียงของเพลงกลูมี่ซันเดย์เพลงนี้ มาเล่นกับเครื่องเล่นแผ่นเสียงของเขา จากนั้นเขาก็กระโดดออกไปทางหน้าต่างของห้องที่อยุ่บนชั้นเจ็ดของตึก ตกกระแทกลงสู่พื้นข้างล่างเสียชีวิตทันที
ในช่วงต้นของยุคปี ค.ศ. 1940 เพลงนี้ก็ได้ถูกสั่งห้ามเปิดในประเทศอังกฤษ เพราะถูกมองว่ามันเป็นเพลงที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจแก่ผู้ที่ได้รับฟังเป็นอย่างมาก และกว่ามันจะได้รับอนุญาตให้กลับมาเปิดอีกครั้ง เวลาก็ผ่านไปจนเข้าสู่ยุคปี ค.ศ. 2002 ไปแล้ว
แม้กระทั่งผู้แต่งเพลงนี้ขึ้นมา เขาก็ไม่สามารถจะหนีคำสาปของเพลงตัวเองได้พ้น เรสโซ่ เซเรส ต้องตกอยู่ในความหวาดกลัวจากข่าวการฆ่าตัวตายของผู้คนมากมาย และคำสาปของเพลงนี้ก็ได้เกิดขึ้นกับเขา โดย เรสโซ่ เซเรส ได้พูดว่า
“ตอนนี้ผมกำลังยืนอยู่ท่ามกลางความตาย ทั้งๆ ที่ผมประสบความสำเร็จ แต่ก็กลับถูกผู้คนกล่าวหา มันทำให้ผมเจ็บปวด จนถึงกับต้องร้องไห้ออกมาตลอดเวลา ท่ามกลางความสิ้นหวังของผมต่อเพลงนี้ และมันก็ดูเหมือนว่าทุกๆ คนล้วนสัมผัสได้ ว่าเพลงนี้มันทำให้พวกเขาเจ็บปวดเช่นกัน”
หลุมฝังศพของ "เรสโซ่ เซเรส" |
ดังนั้น ถ้าคุณอยากจะฟังเพลงกลูมี่ซันเดย์ขึ้นมาล่ะก็ โปรดจงระมัดระวังตัวกันเอาไว้ให้ดี
--จบ--
เรื่องเล่าน่ากลัวจากเพลงกลูมี่ซันเดย์เรื่องนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าสยองขวัญที่อ้างอิงมาจากเรื่องจริงของยุคสมัยปี ค.ศ. 1933 เกี่ยวกับเพลงที่สามารถผลักดันให้ผู้ฟังต้องตัดสินใจฆ่าตัวตายไปเป็นจำนวนมาก แต่ทีนี้เรื่องราวคำสาปในเพลงกลูมี่ซันเดย์เพลงนี้ มันเป็นจริงหรือไม่ ?
แท้ที่จริงแล้วเพลงกลูมี่ซันเดย์ หรือที่ถูกเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่าเดอะฮังกาเรียนซุยซายซอง หรือเพลงฆ่าตัวตายของชาวฮังกาเรียนเพลงนี้ ถูกแต่งขึ้นมาโดยนักเปียโนและนักแต่งเพลงชื่อ เรสโซ่ เซเรส จริงๆ และเพลงนี้ก็โด่งดังขึ้นมาจากกระแสการฆ่าตัวตายของคนที่ได้รับฟังจริง โดยในปี ค.ศ. 1936 มันถูกแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษโดยแซม เอ็ม ลิวอิส ซึ่งเป็นนักร้องและนักแต่งเพลงชาวอเมริกัน และมันก็ถูกขนานนามว่า เป็นเพลงต้องคำสาปจริงๆ
เพียงแต่ว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 เรื่อยมาจนถึงปี ค.ศ. 2016 นั้น กลูมี่ซันเดย์ได้ถูกบันทึกเสียงผ่านเสียงร้องของนักร้องมากมายกว่า 86 ครั้ง มันก็ได้ทำให้มิติที่ 6 รู้สึกแปลกใจว่า ทั้งๆ ที่มันเป็นเพลงต้องคำสาป แล้วทำไมมันถึงยังคงถูกนำมาบันทึกเสียงใหม่ วางจำหน่ายตลอดมาแทบจะทุกปี ปีละหลายๆ รอบกันแบบนี้ได้
ฉลากแผ่นเสียงที่ระบุใต้เพลงว่า มันคือเพลงที่ชาวฮังกาเรียนฟังแล้วฆ่าตัวตาย |
โดยหลังจากที่ตรวจสอบแล้วก็พบว่า ในยุคสมัยปี ค.ศ. 1930 นั้น ประเทศฮังการีมีสถิติการฆ่าตัวตายค่อนข้างสูงเป็นอย่างมากจริงๆ เพียงแต่สาเหตุการฆ่าตัวตายนั้นมันก็มีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งถ้าจะให้มองว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นมาจากเพลงอาถรรพ์เพลงนี้ เราก็คงต้องมาดูที่เนื้อเพลงกันสักนิด
ประเทศฮังการีมีคนฆ่าตัวตายระดับได้รับฉายาว่า "เมืองแห่งการฆ่าตัวตาย" |
"สุดที่รัก ฉันหวังว่าความฝันที่ฉันเล่ามาทั้งหมดนี้ มันคงจะไม่ทำให้เธอต้องหวาดกลัว เพราะหัวใจของฉันนั้นอยากจะบอกเธอว่า ฉันต้องการเธอ"
แล้วมันจะเป็นไปได้อย่างไรว่า ทุกคนที่ฆ่าตัวตายนั้นล้วนเกิดตกอยู่ในความเศร้าจากเพลงรัก จนถูกอาถรรพ์ในเพลงครอบงำจนต้องคิดสั้น แต่มันก็ต้องมีบ้าง ที่จะมีคนคิดฆ่าตัวตายเพราะฟังเพลงนี้ เพียงแต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนอย่างแน่นอน
ในส่วนของ เรสโซ่ เซเรส ที่ในเรื่องเล่าว่าเขาเองนั้นก็ฆ่าตัวตายไปเพราะเพลงนี้เช่นกัน มันก็คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เพียงแต่มันไม่ใช่การฆ่าตัวตายเพราะฟังเพลงของตัวเอง เนื่องจากมีการบอกเล่าจากคนสนิทของ เรสโซ่ เซเรส ที่ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังจากข่าวการเสียชีวิตของเขา โดยบอกว่าตัวของเรสโซ่ เซเรส เองนั้นมีความเครียดเกิดขึ้นมาเนื่องจากตั้งแต่เพลงกลูมี่ซันเดย์โด่งดังขึ้นมา เขากลับไม่สามารถที่จะแต่งเพลงใหม่ให้ดีกว่า หรือแม้แต่จะดีเทียบเท่าเพลงนี้ได้อีกเลย ซึ่งมันก็เป็นแบบนี้มาตลอดสามสิบห้าปี จนกระทั่งวันที่เขาฆ่าตัวตาย
ข่าวการเสียชีวิตของเรสโซ่ เซเรส กับสาเหตุการฆ่าตัวตายที่แท้จริง |
ซึ่งก็แน่นอนว่า มิติที่ 6 เองก็ได้หาเพลงคำสาปนี้มาฟัง ผ่านเว็บไซต์ยูทูปไปหลายรอบแล้วเช่นกัน แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเราจะรู้สึกอยากกระโดดตึกตายแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่สำนักงานของเราตั้งอยู่บนตึกมีลานดาดฟ้าเตรียมพร้อมอยู่ตลอดเวลา ถึงขนาดเปิดเพลงฟังอยู่ริมหน้าต่างก็ยังไม่คิดว่าการเอาตัวเองลงไปกระแทกพื้นข้างล่างมันจะน่าลิ้มลองเลยแม้แต่เพียงเสี้ยววินาที
ดังนั้นเรื่องเล่าเรื่องนี้มันก็คือเรื่องจริง แต่ในเรื่องจริงมันก็ยังมีเรื่องจริงอีกด้านซ่อนอยู่ และเพลงนี้มันก็มีคุณค่ามากพอ ที่จะโด่งดังไปได้ทั่วโลก
ซึ่งเราสามารถทำได้ ด้วยการไม่พยายามเก็บตัวอยู่เพียงคนเดียว ในขณะที่สภาพจิตใจย่ำแย่ และควรระลึกอยู่เสมอว่า อย่าเอาชีวิตไปแลกกับความผิดหวัง เพราะมันไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย !
อย่าลืมติดตามรายการมิติที่ 6 ศุกร์สยองขวัญ กับเรื่องราวเบาๆ พร้อมกับที่มาของมันกันได้ทุกวันศุกร์สะดวก หลังจากจบรายการแล้ว อย่าลืมกดสับสไครป์ กดไลก์ กดแชร์ หรือทิ้งคอมเมนต์กันไว้ด้วยนะครับ ยังมีเรื่องราวต่างๆ อีกมากมายรอคุณอยู่ สำหรับวันนี้ สวัสดี
เรียบเรียงและบรรยายโดย นิวัฒน์ อ่ำแสง
3 มีนาคม 2560
ขอบคุณที่มา : Scaryforkids และ Wikipedia
แท็ก : Gloomy Sunday, กลูมี่ซันเดย์, The Hungarian Suiceide Song, เดอะฮังกาเรียนซุยซายซอง, เพลงต้องคำสาป, Vége a világnak, วีเกอา วีแลกน็อก, Szomorú vasárnap, ซโมรู วาลแชนัพ, Rezső Seress, เรสโซ่, เซเรส, แรเฌอ, แชแร็ชช์
อยากฟังเป็นคลิป แต่หาคลิปไม่เจอในยูทูป เลยเข้ามาอ่านบทความครับ T^T
ตอบลบ