1 กุมภาพันธ์ 2560

มิติที่ 6 เปิดปมปริศนา ตำนานเด็กตัวสีเขียวแห่งหมู่บ้านวูลพิต เรื่องจริงหรือเรื่องแต่งกันแน่ !!!



ขึ้นชื่อว่าตำนาน มันก็เหมือนกับเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ประเภทหนึ่ง ยิ่งถ้าผู้บันทึกเป็นถึงบุคคลระดับสูง มีความน่าเชื่อถือมากกว่านักเขียนปกติทั่วไป มันก็ยิ่งทำให้เรามั่นใจได้ว่า ตำนานที่บันทึกนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง

กดดูคลิปที่นี่

มิติที่ 6 สัปดาห์นี้ เราจะพาไปยังประเทศอังกฤษ เพื่อไปพิสูจน์ปมตำนานการพบกับเด็กชายหญิงคู่หนึ่ง กับบันทึกที่ทำให้คนปัจจุบันหันมาสนใจว่า การมาของเด็กทั้งสองนี้คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ หรือเป็นหลักฐานของการมีอยู่จริงของมนุษย์ต่างดาวกันแน่ !!!



ที่ประเทศอังกฤษนั้น มีตำนานที่เล่าขานกันมาเรื่องหนึ่ง พูดถึงการพบกับเด็กสองพี่น้องชายหญิง อยู่ในหลุมดักหมาป่าบริเวณแถบชายป่าของหมู่บ้านวูลพิต พวกเขาทั้งสองมีความผิดปกติมากมาย ตั้งแต่ภาษาพูดที่ไม่ใช่ภาษาท้องถิ่น เสื้อผ้าที่ไม่เหมือนคนทั่วไป และสีผิวของพวกเขาก็ยังไม่เหมือนกับมนุษย์ธรรมดาเพราะเด็กทั้งสองมีผิวหนังเป็นสีเขียว ซึ่งเรื่องนี้มีท่านผู้ชมจำนวนมาก ได้ขอให้มิติที่ 6 ช่วยค้นหาข้อมูลว่าเด็กทั้งสองคนนี้เป็นใคร ? และเหตุใดพวกเขาถึงได้มาปรากฎตัวอยู่ที่นั่น ?


หมู่บ้านวูลพิตเป็นหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ในเขตซัพโฟล์คของจังหวัดแองเกลียตะวันออก โดยมันอยู่ห่างออกไปจากเมืองบิวรี่เซนต์เอดมันส์ประมาณ 11 กิโลเมตร ของประเทศอังกฤษ ตามบันทึกแล้วช่วงสมัยยุคกลางนั้น หมู่บ้านแห่งนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งในอาณาเขตของวัดที่บิวรี่เซนต์เอ็ดมันส์มาก่อน และก็เป็นส่วนที่ถือว่ามีประชากรหนาแน่นมากที่สุดของชนบทในประเทศอังกฤษอีกด้วย


สถานที่ธรรมดาแบบนี้ก็คงจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ถ้าหากไม่มีการค้นพบบันทึกประวัติศาสตร์ของสองนักเขียนที่ชื่อราล์ฟ แห่งค็อกเกสแชล และวิลเลี่ยม แห่งนิวเบิร์ก ที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงคริสศตวรรษที่ 11 ถึง 12 พวกเขาได้บันทึกเกี่ยวกับเหตุการณ์เหลือเชื่อที่เคยเกิดขึ้นในหมู่บ้านวูลพิตแห่งนี้ว่า มันคือหมู่บ้านแห่งเด็กตัวสีเขียว !
ราล์ฟนั้นคือเจ้าอธิการของโบสถ์คริสเทอเรียนแห่งค็อกเกสแชล ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางใต้ของหมู่บ้านวูลพิตประมาณ 42 กิโลเมตร ส่วนวิลเลี่ยมนั้นคือผู้ทรงศิลแห่งโบสถ์ออกัสติเนียนนิวเบิร์กไพรเออรี่ ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปทางเหนือของยอร์กเชียร์ โดยวิลเลี่ยมนั้นได้ยืนยันเรื่องนี้ไว้บันทึกชื่อ ฮิสทอเรียเรรัมแองกลิคารัม เมื่อช่วงปี ค.ศ. 1189 โดยใช้คำว่า
"รายงานนี้ได้รับมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้"
ส่วนราล์ฟนั้นได้เขียนไว้ในหนังสือโครนิคัมแองกลิคารัมของเขาโดยบันทึกไว้เมื่อประมาณในช่วงปี ค.ศ. 1220 ว่า
"เขาได้รับทราบเรื่องราวนี้มาจากเซอร์ริชาร์ดเดอคาลน์ แห่งไวกส์"
หนังสือ "ฮิสทอเรียเรรัมแองกลิคารัม" และ "โครนิคัมแองกลิคารัม" บันทึกเริ่มแรกของเด็กเขียว
โดยรายละเอียดอ้างว่าเซอร์ริชาร์ดนั้น ได้เคยให้ที่พักแก่เด็กตัวสีเขียวมาอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ของเขา ที่อยู่ห่างออกไปทางเหนือของหมู่บ้านวูลพิตประมาณ 9 กิโลเมตร ซึ่งเหตุการณ์จากทั้งสองแหล่งนั้น แม้จะพูดถึงเด็กตัวสีเขียว แต่มันกลับมีรายละเอียดที่ต่างกันและเหมือนกันในหลาย ๆ จุด มิติที่ 6 จะขอนำเรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวที่ถูกบันทึกไว้ โดยจะจำแนกให้ทราบว่า ที่จุดใดมีใครบันทึกไว้แบบไหน เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนมากที่สุด


โดยในบันทึกมีเนื้อหาดังนี้
วันหนึ่งในช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยว ตามบันทึกของวิลเลี่ยมแห่งนิวเบิร์กนั้น เขาได้ระบุเอาไว้ว่ามันตรงกับช่วงรัชสมัยของกษัตริย์สตีเฟน ที่อยู่ในช่วงยุคระหว่าง ค.ศ. 1135 ถึง ค.ศ. 1154 ชาวบ้านแห่งหมู่บ้านวูลพิตได้พบกับเด็กสองคน ทั้งสองเป็นพี่น้องกัน คนหนึ่งเป็นชายคนหนึ่งเป็นหญิง ที่บริเวณข้าง ๆ หลุมกับดักหมาป่าในป่าใกล้หมู่บ้าน หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า "วูลฟ์พิต" ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านวูลพิตนั่นเอง เด็กทั้งสองมีผิวหนังสีเขียว พูดจาภาษาที่พวกชาวบ้านไม่เข้าใจ เครื่องแต่งกายก็ไม่คุ้นตา ในรายงานของราล์ฟนั้นบอกว่า ในเวลาต่อมาเด็กทั้งสองก็ถูกพาไปยังคฤหาสน์ของเซอร์ริชาร์ดเดอ คาลน์ พอมาถึงจุดนี้ทั้งราล์ฟและวิลเลี่ยมได้บันทึกไว้เหมือนกันว่า เด็กทั้งสองนั้นไม่ยอมกินอาหารใด ๆ นอกจากถั่วดิบ และก็กินอย่างมูมมาม


จนเมื่อเวลาผ่านไป เด็กทั้งสองก็เริ่มจะปรับตัวมารับประทานอาหารปกติได้เรื่อย ๆ พร้อมกับสีของผิวหนังที่เป็นสีเขียวเริ่มกลับมาเป็นสีผิวของคนปกติ และการสื่อสารนั้นเด็กทั้งสองก็ยังได้รับการสอนภาษาอังกฤษตลอดมา เพียงแต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่นาน เด็กชายที่น่าจะเป็นคนน้องได้ล้มป่วยลงและเสียชีวิตไป ในช่วงหลังจากที่ทั้งสองได้เข้ามานับถือนิกายแบพติสต์แล้ว


ในบันทึกของราล์ฟบอกว่า เด็กหญิงที่รอดชีวิตนั้นได้เล่าว่า พวกเขามาจากดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยฉายแสง ตลอดทั้งวันที่นั่นมีแต่ตอนกลางคืน โดยในบันทึกของวิลเลี่ยมบอกว่า เธอเรียกดินแดนที่พวกเธอจากมาว่าดินแดนแห่งเซนต์มาร์ติน ส่วนบันทึกของราล์ฟนั้นเพิ่มเติมว่า ทุก ๆ สิ่งที่นั้นล้วนเป็นสีเขียวทั้งหมด
และบันทึกของวิลเลี่ยมบอกว่า เด็กทั้งสองนั้นไม่รู้ว่าพวกเขามาปรากฏตัวที่วูลพิตได้อย่างไร ทั้งสองบอกว่าครั้งสุดท้ายที่จำได้คือ ตอนนั้นทั้งสองกำลังช่วยพ่อต้อนฝูงวัวอยู่ ก่อนที่จะได้ยินเสียงผิดปกติบางอย่างดังขึ้น โดยวิลเลี่ยมคาดว่ามันน่าจะเป็นเสียงระฆังของโบสถ์บิวรี่เซนต์เอ็ดมันดส์ และทันใดนั้น เด็กทั้งสองก็พบว่าตัวเองมาอยู่ตรงจุดที่ถูกพบเรียบร้อยแล้ว โดยในบันทึกของราล์ฟได้บอกว่า ทั้งสองน่าจะหลงทางหลังจากที่เดินตามฝูงวัวเข้าไปที่ถ้ำ และหลังจากนั้นก็น่าจะเดินตามเสียงระฆังมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งมาถึงบริเวณหลุมดักหมาป่าดังกล่าวนั่นเอง


ในส่วนบันทึกของราล์ฟนั้นบอกว่า ต่อมาตัวเด็กหญิงได้ถูกจ้างให้มาทำงานเป็นคนรับใช้อยู่ในคฤหาสน์ของเซอร์ริชาร์ดเดอคาลน์ ส่วนบุคคลิกภาพของเธอนั้นก็ถูกระบุว่าเป็นคนขี้เล่นและร่าเริง โดยวิลเลี่ยมบอกว่า ต่อมาเธอได้แต่งงานกับชายหนุ่มจากคิงส์ลินน์ ที่อยู่ห่างออกไปจากหมู่บ้านวูลพิตประมาณ 64 กิโลเมตร และยังคงมีชีวิตอยู่อีกระยะหนึ่งก่อนที่วิลเลี่ยมจะได้เขียนเรื่องนี้ โดยเรื่องราวทั้งหมดวิลเลี่ยมได้ค้นคว้ามาจากประวัติของครอบครัวของเซอร์ริชาร์ดเดอคาลน์นั่นเอง


ในเวลาต่อมา นักดาราศาสตร์และนักเขียนชื่อดันแคน ลูแนน ซึ่งเป็นท่านเดียวกันกับผู้ที่เขียนเรื่อง แบล็คไนท์แซทเทิลไลท์ ได้สรุปว่าเด็กหญิงคนดังกล่าวได้ถูกตั้งชื่อว่าแอ็กเนส และเธอได้แต่งงานกับริชชาร์ด แบรร์ ซึ่งเป็นคนในตระกูลสูงศักดิ์ตระกูลหนึ่งของประเทศอังกฤษเลยทีเดียว


จะเห็นได้ว่าในบันทึกต้นฉบับทั้งของราล์ฟแห่งค็อกเกสแชล และวิลเลี่ยมแห่งนิวเบิร์กนั้น ต่างก็ไม่ได้นำเสนอเรื่องราวนี้ไว้ในรูปแบบของเรื่องราวแปลกประหลาดมหัศจรรย์ เหมือนกับที่ถูกเว็บไซต์ต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันพูดถึงเลย


วิลเลี่ยมนั้นเขียนบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ในแบบที่แทบจะเรียกได้ว่า เป็นการบันทึกประวัติศาสตร์แบบสมัยใหม่ โดยแนนซี่ พาร์ทเนอร์ นักวิจัยประวัติศาสตร์ช่วงคริสศตวรรษที่ 12 ได้กล่าวไว้ว่า การนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาในลักษณะนี้ ไม่ควรจะเอียงไปในด้านอิทธิปาฎิหารย์หรือเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ แต่ต้องยึดตามหลักของธรรมชาติ และหลักการทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายถึงความเป็นจริง ไม่อย่างนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะไม่สามารถหาคำตอบได้


โดยแนนซี่นั้นได้อธิบายเกี่ยวกับเด็กตัวสีเขียวแห่งวูลพิตเอาไว้ว่า ในตอนแรกนั้นเรื่องนี้มันเป็นเพียงเรื่องเล่ามาจากกลุ่มชาวบ้าน ซึ่งในขณะนั้นเด็กทั้งสองถูกเข้าใจว่าเป็นเทวดามาจากโลกอื่น และยิ่งในสมัยนี้ มีกลุ่มคนที่เป็นนักอ่านยุคใหม่มองว่ามันก็เป็นไปได้ ที่เด็กตัวสีเขียวนั้นก็คือมนุษย์ต่างดาว ซึ่งอย่างหลังนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นการคาดคะเนทั้งหมด และมันก็ไม่สามารถจะมั่นใจได้ว่า บันทึกที่เห็นกันอยู่นี้มันอาจเป็นบันทึกที่ถูกเล่ามาจากพวกเด็ก ๆ  หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาของผู้ใหญ่ เพราะการบันทึกนั้นส่วนหนึ่งก็นำข้อมูลมาจากสมาชิกเด็ก ๆ และกลุ่มคนรับใช้ของคฤหาสน์

หนังสือของ "แนนซี่ พาร์ทเนอร์"

ซึ่งชาร์ล โอแมน นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งของอังกฤษก็ได้ตั้งสมมติฐานว่ามันก็อาจจะเป็นไปได้เช่นกัน ที่เรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวนี้มันคือการใช้ยาเสพติดและการลักพาตัว


เจฟฟรี เจอโรม โคเฮน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน สาขาประวัติศาสตร์ประเทศอังกฤษ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปอีกทางว่า การที่บันทึกเรื่องราวนี้มันดูมีปริศนานั้น มันก็อาจจะมีสาเหตุมาจากความไม่เข้าใจในภาษาและวัฒนธรรมของชาวต่างชาติก็เป็นได้เช่นกัน หรือแม้แต่การใช้ศัพท์ของคนอังกฤษในเมืองกับคนในชนบท ก็มีคำศัพท์หลายคำที่ต่างกัน ซึ่งบางทีเด็กตัวเขียวก็อาจจะไม่ได้หมายถึงเด็กตัวสีเขียว และภาษาพูดที่ฟังไม่ออกก็อาจจะเป็นเพียงภาษาถิ่นที่เด็กทั้งสองใช้กันในชีวิตประจำวันก็เป็นได้


ชาลส์ โอแมน นักวิชาการได้ชี้จุดสังเกตจุดหนึ่งในเรื่องราวของเด็กตัวเขียวนี้ไว้ว่า ความเป็นจริงนั้นสถานที่ ๆ เด็กตัวสีเขียวถูกพบมันเป็นถ้ำแห่งหนึ่ง ที่ชาวบ้านรู้จักกันเป็นอย่างดี โดยเจอราลด์แห่งเวลล์เคยเล่าเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง ที่หลบหนีตายออกมาจากบ้านของนายจ้าง แล้วไปพบกับชาวปิ๊กมี่สองคน นำทางเด็กคนนี้ลงไปยังทางเดินใต้ดิน ออกไปสู่ดินแดนอันสวยงามที่มีท้องทุ่งและแม่น้ำ แต่กลับไม่มีแสงสว่างของดวงอาทิยต์เลยแม้แต่น้อย แต่เรื่องราวนี้มันก็ดูไม่ค่อยจะน่าเชื่อถือสักเท่าไหร่
ส่วน อี. ดับบลิว. บาฟแมน ก็ได้ยกตัวอย่างเรื่องเล่าของอเมริกาเกี่ยวกับโลกใต้พิภพ ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เช่นกัน และก็ยังมีมาร์ติน วอลช์ ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับดินแดนที่ชื่อเซนต์มาร์ติน และเรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวว่า มันอาจจะหมายถึงเฟียสออฟมาร์ตินมาส หรืองานฉลองเซนต์มาติน ที่มีที่มาดั้งเดิมจากในประเทศอังกฤษ ส่วนเด็ก ๆ ในเรื่องนั้น ก็น่าจะเป็นเพียงคนชนชั้นล่างของท้องถิ่นที่นั่นก็เป็นได้


ในด้านการพัฒนาเรื่องเล่านั้น ก็มีนิทานเรื่องหนึ่งที่น่าจะถูกดัดแปลงมา โดยเนื้อหานั้นเกี่ยวกับการพบเด็กสองคนอยู่ในป่า เขาถูกทิ้งโดยลุงผู้ชั่วร้าย ที่หมายจะให้เด็กคนนั้นเสียชีวิต โดยในเวอร์ชั่นนี้เด็กจะมีสีผิวเป็นสีเขียวเพราะถูกวางยาประเภทสารหนู และหลบหนีออกมาจากป่าที่พวกเขาถูกนำไปทิ้งแถวป่าเทธฟอร์ด โดยเด็ก ๆ ตกลงไปในหลุมที่หมู่บ้านวูลพิตเช่นกัน โดยเรื่องเล่าเวอร์ชั่นนี้ถูกเล่าไว้โดยนักเล่านิทานและนักดนตรีชื่อบ็อบ โรเบิร์ต ที่ถูกพิมพ์ในปี ค.ศ. 1978 โดยส่วนหนึ่งของหนังสือนั้นเขียนไว้ว่า ชาวหมู่บ้านวูลพิตได้พบกับเด็กตัวสีเขียว แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเด็กทั้งสองคนนี้เป็นใคร ?


ในส่วนของนักวิเคราะห์ที่บอกว่า บางทีเด็กสองคนนี้อาจจะเป็นมนุษย์ต่างดาว หรืออาจเป็นชาวใต้พิภพ ในช่วงปี ค.ศ. 1996 ได้มีการตั้งประเด็นแบบนี้ขึ้นมาในนิตยสารชื่อ อนาล็อก โดยนักดาราศาสตร์ชื่อดันแคน ลูแนน ได้ตั้งสมมติฐานไว้ว่า เด็กทั้งสองคนนี้อาจจะประสบอุบัติเหตุในช่วงระหว่างเดินทาง ตกลงมายังหมู่บ้านวูลพิต โดยตั้งข้อสังเกตจากเสียงดังบางอย่างนั้นก็คือเสียงสัญญาณเตือนภัยบนยานอวกาศ โดยลูแนนชี้ว่า ดวงดาวที่พวกเด็ก ๆ จากมานั้น น่าจะมีวงโคจรที่จะต้องถูกอะไรบางอย่างบดบังแสงอาทิตย์ไว้ตลอดเวลา โดยนำเสนอว่าจุดที่พวกเขาเคยอาศัยอยู่นั้น อาจจะเป็นด้านมืดของดาวเคราะห์เช่นเดียวกับด้านที่เรียกว่าฟาร์ไซด์ หรือด้านไกลของดวงจันทร์ก็เป็นได้ โดยลูแนนยังอธิบายอีกว่า สาเหตุที่เด็กทั้งสองมีผิวเป็นสีเขียวนั้น มันก็อาจจะเป็นเพราะผลกระทบจากการที่พวกเขาเป็นเอเลี่ยนสายพันธ์ุกินพืขผักของดวงดาวแห่งนี้

นิตยสาร "อนาล็อก " ที่ตั้งสมมติฐานว่าเด็กทั้งสองมาจากต่างดาว
แต่อย่างไรแล้ว ดันแคน ลูแนนเองก็ไม่ใช่คนแรกที่ออกมาบอกว่า เด็กตัวสีเขียวแห่งหมู่บ้านวูลพิตเป็นเรื่องราวเหนือธรรมชาติ เพราะโรเบิร์ต เบอร์ตัน นักกายวิภาคแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ของช่วงปี ค.ศ. 1621 ได้เคยพูดเกี่ยวกับเรื่องเด็กตัวสีเขียวเอาไว้ว่า พวกเขาหล่นลงมาจากสวรรค์ โดยความคิดนี้ก็ได้ถูกนักประวัติศาสตร์ชื่อฟรานซิส ก็อดวิน นำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่อง เดอะแมนอินเดอะมูน ที่ได้ตีพิมพ์ไว้เมื่อปี ค.ศ. 1638 อีกด้วย

นิยาย "เดอะแมนอินเดอะมูน" ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเด็กเขียว

ในส่วนการอธิบายในรูปแบบของประวัติศาสตร์นั้น มีการบันทึกเอาไว้เกี่ยวกับกลุ่มผู้อพยพชาวเฟลมิช (ชาวเบลเยี่ยมในปัจจุบัน) ที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศอังกฤษเมือช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยพวกเขานั้นถูกเอารัดเอาเปรียบตลอดมา ตั้งแต่ช่วงหลังจากรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 2 ขึ้นครองราชในปี ค.ศ. 1154 มีชาวเฟลมิชถูกสังหารมากมายบริเวณใกล้ ๆ กับบิวรีเซนต์เอ็ดมันส์ในช่วง ค.ศ. 1173 ซึ่งมันก็เป็นไปได้เช่นกันว่า เด็กตัวสีเขียวทั้งสองนั้นอาจจะถูกพ่อแม่ซึ่งเป็นชาวเฟลมิช พาพวกเขาหลบหนีออกมาพร้อม ๆ กับคนอื่น ๆ จากหมู่บ้านที่ฟอร์นแฮมเซนต์มาร์ติน ซึ่งอยู่ทางเหนือของบิวรี่เซนต์เอ็ดมันด์ โดยหลบหนีมาเรื่อย ๆ และแยกย้ายกันไป จนสุดท้ายก็เหลือเพียงทั้งสองที่มาจบการเดินทางที่หมู่บ้านวูลพิต


ทั้งความวุ่นวายสับสน และเสื้อผ้าที่ไม่คุ้นตาของชาวเฟลมิช และสีผิวของเด็ก ๆ ที่เป็นสีเขียว มันก็น่าจะเป็นอาการของโรคกรีนซิคเนส หรือไข้สีเขียว ซึ่งมีผลมาจากโรคขาดสารอาหารนั่นเอง ส่วนภาษาพูดที่คนอังกฤษฟังไม่เข้าใจ มันก็น่าจะมาจากภาษาที่เด็ก ๆ ใช้พูดนั้นก็คือภาษาของชาวเฟลมิชนั่นเอง


โดยนักประวัติศาสตร์ชื่อดิเร็ค บริวเวอร์ ได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า มันมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ในช่วงที่เด็กทั้งสองถูกพบนั้น พวกเขายังเป็นเด็กอยู่มาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการต้อนฝูงวัว หรือการอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านในป่า พูดจาได้เพียงเล็กน้อยและไม่รู้จักที่มาของตัวเอง การบริโภคแต่ถั่วดิบมันก็ถือเป็นความน่าสลดใจ และมีผลทำให้เด็ก ๆ มีผิวกลายเป็นสีเขียว ซึ่งมันเป็นอาการของผู้ป่วยโรคกรีนซิคเนส และดีขึ้นหลังจากที่ได้รับสารอาหารครบถ้วนแล้ว


เจฟฟรี เจอโรม โคเฮน ได้ให้ความเห็นไปในอีกทิศทางว่า เรื่องราวที่วิลเลี่ยมแห่งนิวเบิร์กเขียนนั้นดูเหมือนจะปิดบังอะไรบางอย่าง เด็กตัวสีเขียวนั้นก็เปรียบเสมือนความทรงจำในอดีตของประเทศอังกฤษ ที่ใช้ความรุนแรงกับชาวพื้นเมือง และดูเหมือนวิลเลี่ยมจะไม่เต็มใจเขียนบันทึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ละเอียดอย่างที่ควรเป็น และมองว่าบันทึกของวิลเลี่ยมนั้นเต็มไปด้วยความเท็จ ปิดบังความจริงของประวัติศาสตร์เพื่อเชิดชูกษัตริย์สมัยนั้นมากจนเกินไป และมองว่าเด็กทั้งสองคนนั้นน่าจะเป็นชาวเวลช์ หรือลูกครึ่งชาวไอริชและสก็อตแลนที่ถูกกวาดต้อนมา โดยวิลเลี่ยมนั้นหลีกเลี่ยงที่จะเล่าความจริงนี้ เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังรู้ว่าสมัยก่อนนั้น ประเทศอังกฤษเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการปกครองมาก่อน


เฮอร์เบิร์ต รีด นักวิจารณ์บทประพันธ์ของประเทศอังกฤษ ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวไว้ในแบบของชาวอังกฤษไว้เช่นกัน โดยเขาบอกว่ามันเป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นจากการใช้จินตนาการ อย่างเรื่องเดอะกรีนชายด์ หรือเด็กตัวสีเขียวที่เขาแต่งไว้ในปี ค.ศ. 1934 ก็ได้ถูกดัดแปลงแต่งใหม่อีกครั้งในปี ค.ศ. 1994 โดยเควิน ครอสลี่ย์ซึ่งเป็นชาวฮอลแลนด์ โดยเขียนเน้นเรื่องราวไปที่ชีวิตของเด็กหญิง


นักเขียนชื่อจอห์น แมคลิน ได้เขียนเรื่องราวของเขาไว้ในปี ค.ศ. 1965 ชื่อ สเตรนจ์เดสทินี่ หรือชะตากรรมแปลกประหลาด ก็มีเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กตัวสีเขียวที่เดินทางมาจากหมู่บ้านบานโจสของประเทศสเปนในปี ค.ศ. 1887 โดยรายละเอียดส่วนใหญ่ก็ใกล้เคียงกับเรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวแห่งหมู่บ้านวูลพิตเป็นอย่างมาก ซึ่งมันก็เป็นไปได้เช่นกันว่า จอห์น แมคลีนได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องนี้ เพราะพอเช็คกันจริง ๆ แล้ว ในประเทศสเปนนั้น ไม่เคยมีหมู่บ้านชื่อบานโจสมาก่อน

หนังสือ "สเตรนจ์เดสทินี่"

ซึ่งไม่ว่าเรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวแห่งหมู่บ้านวูลพิตนั้น จะเป็นเรื่องราวที่ถูกเขียนโดยอิงมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์  หรือเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นมาจากจินตนาการ หรือแม้แต่การตั้งสมมติฐานว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ต่างดาว มันก็ขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลที่เราได้รับอยู่นั้นมันมาจากแหล่งไหน ? มาจากคนที่ชื่นชอบเรื่องราวแบบใด ?
โดยหลังจากที่มีท่านผู้ชมขอเรื่องราวนี้มากับทางมิติที่ 6 ตั้งแต่ช่วงเดือนแรก ๆ ที่ทำช่องขึ้นมานั้น เราก็พยายามค้นหาแหล่งข้อมูลที่น่าจะครบรอบด้านมากที่สุด เพื่อให้ท่านผู้ชมได้ใช้วิจารณญาณว่า เรื่องราวของเด็กตัวสีเขียวเรื่องนี้มันคืออะไร ? และมีที่มาจากไหน ? รวมถึงสมมติฐานอะไรบ้าง ? ซึ่งสุดท้ายมันก็มีเพียงตัวของท่านผู้ชมเท่านั้น ที่จะสามารถให้ตอบกับตัวเองได้ แต่ถ้าจะถามความเห็นจากมิติที่ 6 เราก็อยากจะบอกกับท่านผู้ชมว่า นี่ไง! ปริศนาของจริงที่เราตามหามานาน มันอยู่ตรงนี้นี่เอง


หลังจากจบรายการแล้ว อย่าลืมกดสับสไครป์ กดไลก์ กดแชร์ หรือทิ้งคอมเมนต์กันไว้ด้วยนะครับ ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายรอคุณอยู่ สำหรับวันนี้ สวัสดี

แปลและเรียบเรียง นิวัฒน์ อ่ำแสง

ที่มา : The Line UpWikipedia และ Stephie5741

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประกาศ

เพื่อเป็นกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้กับเรา ขอความร่วมมือจากผู้ที่นำเรื่องราวจากมิติที่ 6 ไปใช้ในที่ของท่าน กรุณาลงเครดิตกลับมาที่เราจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ